• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร CHAYO ที่ 'BB+' แนวโน้ม 'Stable'

Started by Panitsupa, March 28, 2022, 03:39:40 AM

Previous topic - Next topic

Panitsupa

ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร CHAYO ที่ 'BB+' แนวโน้ม 'Stable'

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) ที่ระดับ 'BB+' พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่'

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงประสบการณ์ที่กว้างขวางและยาวนานตลอดจนผลงานที่พิสูจน์แล้วในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันของบริษัท

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งเหล่านี้ถูกลดทอนลงจากขนาดธุรกิจของบริษัทที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอื่น ๆ ที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากแผนในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันในเชิงรุก

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดของบริษัทที่จะเกิดจากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Non-performing Asset -- NPA) ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากอุปสงค์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมากขึ้น บริษัทเป็นผู้ประกอบการธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Distressed Asset Management Company ? DAMC) ที่มีประสบการณ์ยาวนานและมีผลงานที่พิสูจน์แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้รวมทั้งการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันผ่านการดำเนินงานของ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ชโย จำกัด (Chayo AMC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้จัดตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ ชโย เจวี จำกัด (Chayo JV) โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 920 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันเป็นหลัก ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าการจัดตั้ง Chayo JV ขึ้นมานั้นเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตำแหน่งทางการตลาดและขนาดธุรกิจของบริษัทในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้ง เห็นว่าการมีผลงานในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันที่ค่อนข้างน้อยทำให้บริษัทยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จต่อไป

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 สินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมีสัดส่วนคิดเป็น 66.6% ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมด (เงินให้กู้ยืมแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพก่อนดอกเบี้ยค้างจ่ายและการตั้งสำรอง) ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากกลยุทธ์ในปัจจุบันของบริษัทที่จะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันให้มากขึ้น

ขนาดธุรกิจขยายใหญ่ขึ้นแต่ยังคงถือว่าเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในเรื่องของขนาดธุรกิจโดยเห็นได้จากการเติบโตที่รวดเร็วในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ขนาดสินทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ระดับ 72.6% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและมากกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของทั้งอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.1% ในช่วงเวลาเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ขนาดธุรกิจของบริษัทยังถือว่าค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง โดยขนาดสินทรัพย์ของบริษัทที่ระดับ 5.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 นั้นคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับเพียง 2.01% ในบรรดาบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน แม้ว่าทริสเรทติ้งคาดว่าการจัดตั้ง Chayo JV จะช่วยสนับสนุนการเติบโตให้แก่บริษัทในอนาคต แต่ขนาดของธุรกิจในปัจจุบันยังคงเป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท
อุปทานของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นในระบบเป็นปัจจัยที่สร้างโอกาสในการเติบโต ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปทานของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าภายหลังจากที่โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ต่าง ๆ หมดอายุลง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บริษัทและบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอื่น ๆ สามารถซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ จากกลยุทธ์ของฝ่ายบริหาร บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายพอร์ตการลงทุนอย่างเต็มที่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าโดยผ่านบริษัทลูกทั้ง 2 แห่ง คือ Chayo AMC และ Chayo JV ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าขนาดสินทรัพย์ของบริษัทจะขยายตัวอย่างมากสู่ระดับ 9.4 พันล้านบาทภายในสิ้นปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันเป็นหลัก
คาดว่าเงินสดจัดเก็บจะเพิ่มมากขึ้นแต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เงินสดจัดเก็บของบริษัทเพิ่มขึ้น 2% ในปี 2563 และ 60.7% ในปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกัน (ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันและทรัพย์สินรอการขาย) ที่บริษัทซื้อมาบริหารในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เงินสดจัดเก็บของบริษัทอยู๋ในระดับที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง (Lockdown) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในระหว่างปี 2563-2564 รวมทั้งจากอุปสงค์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนตัวลง และการปิดทำการกรมบังคับคดีเป็นการชั่วคราวซึ่งส่งผลทำให้กระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายเกิดความล่าช้า
ทริสเรทติ้งคาดการณ์การเติบโตโดยเฉลี่ยของเงินสดจัดเก็บของบริษัทว่าจะอยู่ที่ระดับ 50% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งการเติบโตที่แข็งแกร่งดังกล่าวจะมีกระแสเงินสดก้อนใหญ่จากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันที่บริษัทลงทุนซื้อมาบริหารในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญแม้ทริสเรทติ้งจะมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าและอุปสงค์ด้านอสังหาริมทรัพย์จะซบเซาในปี 2565 ก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินสดจัดเก็บของบริษัทจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของเงินสดจัดเก็บทั้งหมดในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยเทียบกับสัดส่วน 53.3% ในปี 2564 ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทได้ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากสัดส่วนที่มากกว่าของเงินสดจัดเก็บจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกัน ทริสเรทติ้งจึงมองว่าความไม่แน่นอนของเงินสดจัดเก็บของบริษัทจากธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางกฎหมาย สถานที่ตั้ง ราคา และความต้องการ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากผลการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยรวมของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าต่อไป

การก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่มีการลงทุนสูง ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุกอาจสร้างความตึงเครียดให้แก่สถานะทางการเงินของบริษัทในอีก 2-3 ปีข้างหน้าแม้ว่าบริษัทจะมีการเพิ่มทุนจำนวน 1.7 พันล้านบาทในปี 2564 ด้วยการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิ (CHAYO-W1) และจากการจัดตั้ง Chayo JV ก็ตาม ทั้งนี้ จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะนำเงินทุนส่วนใหญ่ไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในอัตรา 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 ในขณะที่ระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินสดจัดเก็บในระยะการเติบโต ทั้งนี้ เนื่องจากธรรมชาติของการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันนั้นต้องใช้เงินลงทุนสูงและต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายซึ่งใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 3 ปีก่อนที่จะสามารถขายสินทรัพย์แต่ละชิ้นออกไปได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทซึ่งวัดจากหนี้สินรวมต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 3.9 เท่าและ 4.2 เท่า ณ สิ้นปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ จากระดับ 0.4 เท่า ณ สิ้นปี 2564 โดยประมาณการดังกล่าวได้รวมมุมมองของทริสเรทติ้งที่เงินสดจัดเก็บจากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันอาจมีความล่าช้าเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและอุปสงค์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงเข้าไว้ด้วย

รายได้จากบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ยังคงซบเซาเนื่องจากการแพร่ระบาดยังดำเนินต่อไป บริษัทยังคงรายงานรายได้จากบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ในปี 2564 ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ -22% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยสาเหตุหลักมาจากการขยายระยะเวลาช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากบริการดังกล่าวจะยังคงซบเซาต่อไปในปี 2565 เนื่องจากโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ได้รับการขยายเวลาออกไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้จะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด 19 ได้ภายในปี 2567 สำหรับทั้งลูกค้าสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท
มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอโดยพิจารณาจากการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทจะยังคงมากกว่าการใช้เงินทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 400 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า รวมถึงเงินสดในมือจำนวน 1.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 เงินกู้ยืมใหม่เพื่อใช้หนี้เดิม (รีไฟแนนซ์) และวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 100 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2565 ในขณะที่การใช้เงินทุนประกอบด้วยการชำระหนี้รวมประมาณ 328 ล้านบาทและแผนการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอีกประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2565
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตลงทุน บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตลงทุนเนื่องจากบริษัทมีการลงทุนจำนวน 10 รายการแรกในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด ณ สิ้นปี 2564 เมื่อพิจารณาในแง่บวก ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากประมาณ 60% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด ณ สิ้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตลงทุนของบริษัทบรรเทาลงบางส่วนจากต้นทุนการซื้อสินทรัพย์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับราคาประเมินของหลักประกันและการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหลักประกันเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตลงทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตลงทุนจะค่อย ๆ ลดลงไปในระดับหนึ่งเนื่องจากพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโดยรวมเติบโตขึ้น
ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 62 ราย ณ สิ้นปี 2564 จาก 39 ราย ณ สิ้นปี 2558 โดยสินทรัพย์รวมของบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดนั้นเติบโตขึ้นในอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 8.66% ในช่วงระหว่างปี 2559-2564 ผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากสถาบันการเงินซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศรวมถึงบริษัทเงินทุนนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 5.31 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 จาก 4.65 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ถึงแม้ว่าแนวคิดในเรื่องโกดังพักหนี้ (Asset Warehousing) อาจทำให้ปริมาณสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่จะถูกขายออกมานั้นปรับตัวลดลง แต่ทริสเรทติ้งคาดว่าผู้ประกอบการในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ยังคงมีโอกาสอีกมากที่จะขยายสินทรัพย์ของตนเอง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ต่อไปนี้คือสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567

เงินสดจัดเก็บจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แบบไม่มีหลักประกันจะอยู่ในช่วง 300-380 ล้านบาทต่อปี
รายได้จากบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้จะอยู่ในช่วงประมาณ 42-64 ล้านบาทต่อปี
กำไรจากการขายสินทรัพย์รอการขายจะอยู่ในช่วง 168-340 ล้านบาทต่อปี
เงินให้สินเชื่อรวมสำหรับธุรกิจให้สินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.1-1.6 พันล้านบาทต่อปี
การลงทุนซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่' สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ และมีรายได้จากเงินสดจัดเก็บที่แข็งแกร่งต่อไปในระยะปานกลางจากการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างการเติบโตของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังคงรักษาระดับหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้หากอัตราหนี้สินรวมต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ