• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

รายงานแมคคินซีย์ เผยข้อมูลภาพรวมการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ

Started by fairya, January 27, 2022, 02:04:51 PM

Previous topic - Next topic

fairya

รายงานแมคคินซีย์ เผยข้อมูลภาพรวมการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามที่เป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นคือ ความพยายามนี้จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไรและเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจให้มีความสอดคล้องในด้านใดบ้าง รายงานฉบับใหม่โดยแมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี ที่ตีพิมพ์วันนี้ เผยข้อมูลที่ครอบคลุมกว่าผลสำรวจใดๆ ที่เคยมีมา ถึงลักษณะและขนาดของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ภายใต้รายงานชื่อ "The net-zero transition: What it would cost, what it could bring" ซึ่งสำรวจข้อมูลสำคัญด้านอุปสงค์ ค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิต และตำแหน่งงานในภาคส่วนต่าง ๆที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 85% จากปริมาณทั้งหมดของโลก ร่วมกับผลวิเคราะห์เชิงลึกจาก 69 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย

"การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ ควบคู่ไปกับความร่วมมือของภาคส่วน ประเทศ และสังคมกลุ่มเปราะบาง สามารถช่วยส่งเสริมการปรับตัวด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จำเป็นได้" คุณเมคะลา กฤษนันท์ หุ้นส่วนสถาบันแมคคินซีย์ โกล. และหนึ่งในผู้เขียนรายงานวิจัย กล่าว

รายงานฉบับนี้ประเมินการเปลี่ยนแปลงใน 2 มิติ ได้แก่ ภาคส่วนและภูมิศาสตร์ และวิเคราะห์นับตั้งแต่ระยะเวลาที่เริ่มศึกษาตลอดจนเส้นทางสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามสมมติฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ของเครือข่ายของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับ เพื่อทำให้ระบบการเงินเป็นสีเขียว (Network for Greening the Financial System) โดยมีข้อมูลสำคัญ ดังนี้

การเปลี่ยนผ่านนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลก - ภาคเศรษฐกิจทั้งหมดจากทุกนานาประเทศจะได้รับผลกระทบหลังระบบด้านพลังงานและการใช้ที่ดินที่มีการปล่อยมลพิษได้รับการปรับปรุง
ขนาดของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะมีนัยสำคัญ - ต้นทุนในการซื้อสินทรัพย์ที่จับต้องได้จะมีมูลค่ารวมประมาณ 275 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2593 หรือราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพิ่มขึ้น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์จากการใช้จ่ายประจำปีในปัจจุบัน เนื่องจากกิจกรรมที่ส่งผลต่อการปล่อยมลพิษในปริมาณสูงนั้นมีจำนวนลดลง และกิจกรรมที่ส่งผลต่อการปล่อยมลพิษในปริมาณต่ำมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันปริมาณการใช้จ่ายด้านพลังงานและทีดินกว่า 65% ถูกใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยมลพิษสูง หากแต่ในอนาคต กว่า 70% จะถูกเปลี่ยนมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยมลพิษต่ำและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะสวนทางกับกระแสปัจจุบัน จากรายได้และจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และนโยบายกฎหมายด้านการเปลี่ยนผ่านที่มีอยู่ในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะมีมูลค่าราวหนึ่งล้านล้านดอลลาร์
การจัดสรรแรงงานใหม่อาจเป็นเรื่องจำเป็น - ด้วยจะมีตำแหน่งงานจากการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นกว่า 200 ล้านตำแหน่ง และมีตำแหน่งงานที่ต้องยุติลงกว่า 185 ล้านตำแหน่งภายในปี 2593 จากการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ต้นทุนค่าใช้จ่ายจะสูงในปีแรกๆ - โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษแรก รายจ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 8 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกในปัจจุบัน เป็น 8.8 % ระหว่างปี 2569 ถึง 2573 ก่อนที่จะลดต่ำลง
ผลกระทบจะกระจายออกสู่แต่ละภาคส่วน ประเทศ และชุมชน ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน - ภาคที่มีการปฏิบัติงานหรือการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำ ประเทศที่มีแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ และชุมชนที่เศรษฐกิจท้องถิ่นต้องพึ่งพาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก และอีก 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกเป็นกลุ่มภาคส่วนที่ห่วงโซ่อุปทานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจากทุกพื้นที่ อาจได้รับผลกระทบจากค่าไฟที่สูงขึ้นในช่วงแรก และค่าใช้จ่ายเบื่องต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ เช่น เครื่องทำความร้อนรุ่นใหม่ หรือรถยนต์ไฟฟ้า
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะมีขนาดใหญ่หากการจัดการไร้ระเบียบ- การเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น การขาดแคลนด้านพลังงานและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีการจัดการที่ดี ถ้าการเปลี่ยนแปลงเกิดความล่าช้าหรือสะดุด อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากการตกค้างของสินทรัพย์และการกระจัดกระจายแรงงาน
ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง การปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะมาพร้อมกับโอกาสมากมายและช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านกายภาพอื่นๆ- ในขณะที่ผลกระทบจะกระจายออกไปในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า อาทิ ศักยภาพในการลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาว ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น และการอนุรักษ์ต้นทุนทางธรรมชาติ มีโอกาสเติบโตในหลายด้าน เช่น การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างตลาดใหม่สำหรับสินค้าที่ปล่อยมลพิษต่ำ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 5 องศาเซลเซียส จะสามารถป้องกันผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ รวมถึงจำกัดความเสี่ยงวงจรสะท้อนกลับ (feedback loop) และทำให้เราสามารถหยุดยั้งปัญหาภาวะโลกร้อนที่อาจสูงขึ้นมากกว่านี้
"การเปลี่ยนแปลงที่บริหารจัดการอย่างเป็นระเบียบไม่เพียงช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง แต่ยังอาจสร้างประโยชน์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงานและค่าการผลิตที่ลดลงในระยะยาว นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นและการเคลื่อนไหวที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในด้านนี้ สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาระดับโลกด้านอื่น ๆ ได้ ในขณะเดียวกัน เราควรคำนึงถึงความเสี่ยงระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่ขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วย" คุณฮามิด สมานดารี หุ้นส่วนอาวุโสแมคคินซีย์ กล่าว  

การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาคธุรกิจ รัฐบาล สถาบันและประชาชนจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ทั้งหมด การเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนและการรับมือความเสี่ยงในระยะสั้น การก้าวไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความช่างคิดประดิษฐ์รวมถึงการขยายขอบเขตการวางแผนและการลงทุน

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การคว้าโอกาสและการปรับตัวรับมือกับความเสี่ยงทางกายภาพ

"แม้การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะมีความซับซ้อนและเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น" คุณดิคกอน พินเนอร์ หุ้นส่วนอาวุโสแมคคินซีย์ และรองหัวหน้ากลุ่มงานด้านความยั่งยืน กล่าว "คำถามในตอนนี้คือโลกจะสามารถเดินหน้าอย่างกล้าหาญ ขยายความรับผิดชอบ และเพิ่มการลงทุนที่จำเป็นในทศวรรษหน้าที่จะถึงนี้ได้หรือไม่"

รายงานการศึกษาฉบับนี้ต่อยอดจากแผนงานวิจัยของแมคคินซีย์ Solving the net-zero equation: Nine requirements for a more orderly transition, และต่อเนื่องจาก Climate risk and response: Physical hazards and socioeconomic impacts ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2563 ซึ่งแมคคินซีย์ใช้ความพยายามในการวิจัยข้ามสาขาวิชาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี โดยเน้นศึกษาความเสี่ยงด้านกายภาพและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้คน สังคม ต้นทุนทางธรรมชาติและกายภาพ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทิศทางขององค์กร รัฐบาล สถาบันการเงินและเอกชน

สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มจากกลุ่มงานด้านความยั่งยืน กลุ่มงานด้านพลังงานและวัสดุ กลุ่มงานอุตสาหกรรมขั้นสูง และสถาบันแมคคินซีย์ โกล. ได้ที่ mck.co/netzerotransition.

สถาบันแมคคินซีย์ โกล. (McKinsey Global Institute) หน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจและธุรกิจของแมคคินซีย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านการพัฒนาเศรษฐกิจโลก โดยมีเป้าหมายในการนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อมูลเชิงลึกเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการขั้นพื้นฐานและการตัดสินใจของผู้บริหารในภาคธุรกิจ รัฐบาล และสังคม งานวิจัยของสถาบันแมคคินซีย์ โกล. รวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ ร่วมกับข้อมูลเชิงลึกของผู้บริหารจากภาคธุรกิจต่างๆ  สถาบันแมคคินซีย์ โกล. ใช้แนวทางศึกษาระดับจุลภาคสู่ระดับมหภาคในการสำรวจเทรนด์เศรษฐศาสตร์ระดับจุลภาคในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายสาธารณะ

กลุ่มงานด้านความยั่งยืน (McKinsey Sustainability) เป็นแพลตฟอร์มเพื่อบริการลูกค้าองค์กร โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 กลุ่มงานด้านความยั่งยืนมุ่งมั่นที่จะเป็นหุ้นส่วนและผู้ให้คำปรึกษาที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ทั้งในห้องประชุมและห้องเครื่องยนต์ ในหัวข้อด้านความยั่งยืน ความยืดหยุ่นด้านสภาพอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และแนวทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เรานำแนวคิด เครื่องมือและโซลูชันด้านนวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้า และเครือข่ายสมาคมอุตสาหกรรมและพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปกป้องโลกและส่งเสริมความยั่งยืน www.mckinsey.com/sustainability

กลุ่มงานด้านพลังงานและวัสดุ (McKinsey's Global Energy & Materials Practice) มอบบริการให้แก่ลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ พลังงานและน้ำมัน เหมืองแร่ เหล็ก เยื่อและกระดาษ ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ การเกษตร และพลังงาน เพื่อส่งเสริมงานสำคัญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนกลยุทธ์ การปฏิบัติการ แผนการตลาดและการขาย การบริหารจัดการองค์กร รวมถึงหัวข้อด้านการทำงานอื่นๆ นอกจากนี้ MineLens, MineSpans และ Energy Insights แผนกผู้เชี่ยวชาญภายใต้กลุ่มงานยังช่วยมอบข้อมูลเชิงลึกขั้นพื้นฐานด้านพลวัตตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และร่วมงานกับหน่วยงานชั้นนำระดับโลกมากมาย ทั้งภาคองค์กรและรัฐวิสาหกิจ และร่วมงานกับกว่า 80% ของบริษัทเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุด และ 90% ของบริษัทน้ำมันและพลังงานที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลก

กลุ่มงานอุตสาหกรรมขั้นสูง (McKinsey's Advance Industries Practice) รวบรวมแนวทางปฏิบัติงานที่ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมระดับโลก ด้วยรากฐานในการออกแบบและการผลิตทางเทคนิคที่มีความซับซ้อน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และการประกอบชิ้นส่วน อากาศยานและยุทโธปกรณ์การรบ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง/เซมิคอนดักเตอร์ เครือข่ายทั่วโลกของเราประกอบไปด้วยหุ้นส่วนด้านอุตสหากรรมที่มีประสบการณ์มายาวนาน ทำงานร่วมกับผู้บริหารภาคอุตสาหกรรมมากมาย เพื่อร่วมบริหารจัดการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนกลยุทธ์ การบริหารจัดการองค์กร แผนปฏิบัติการ เทคโนโลยี การตลาดและการขาย และการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเราให้ความสำคัญกับความสามารถในการปฏิบัติงานเป็นหลัก รวมถึงช่วยให้ลูกค้ามองเห็นวงจรรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงในระยะยาว เราทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำที่มีชื่อเสียงในภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งในการยกระดับหน่วยงาน ธุรกิจ และองค์กรเพื่อเร่งการสร้างรายได้ การบูรณาการด้านเทคโนโลยี การออกแบบแผนปฏิบัติงาน และการเพิ่มกำไรและกระแสเงินสด