ผู้เล่นในตลาดการเงิน (https://www.ejanth.com/%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B9%82%E0%B8%95/)เริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังว่า Omicron แม้จะแพร่ระบาดได้เร็วกว่า Delta แต่ก็อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงมากกว่าและวัคซีนที่มีในปัจจุบันยังสามารถรับมือได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาปรับฐานลงมาพอสมควรจากความกังวลการระบาดของ Omicron ก่อนหน้า (Buy on Dip)
ส่งผลให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell 2000 พุ่งขึ้นกว่า +2.5% ตามด้วยดัชนี Dowjones +1.8% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการบินและการเดินทาง อาทิ Boeing +7.6% ส่วน S&P500 ปิดตลาด +1.42% ในขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นมาเพียง +0.83% เนื่องจากหุ้นเทคฯ ยังคงถูกกดดันโดยมุมมองของประธานเฟดรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด อาทิ การเร่งลดคิวอี ท่ามกลางความกังวลของเฟดว่าเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าที่เคยประเมินไว้
อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงต่อ -1.7% สะท้อนว่าตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวจากการระบาดของ Delta ณ ปัจจุบัน รวมถึงความเสี่ยงการระบาดของ Omicron ซึ่งล่าสุดส่งผลให้ รัฐบาลเยอรมนีต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
อนึ่ง ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด ASML -5.8%, Adyen -4.0%, Infineon Tech. -3.9%
ทั้งนี้ แม้ว่า sentiment ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจฟื้นตัวดีขึ้นตามตลาดสหรัฐฯ แต่เรามองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่า การปรับฐานของตลาดอาจจบแล้ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของ Omicron ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ Omicron ยังมีอยู่ไม่มาก ซึ่งอาจต้องรอการยืนยันจากบริษัทผลิตวัคซีนว่าวัคซีนปัจจุบันยังสามารถรับมือกับ Omicron ได้ โดยคาดว่าข้อมูลดังกล่าวอาจจะมีการรายงานภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากตลาดหุ้นมีการปรับฐานหนักสู่แนวรับหลักอีกครั้ง ก็จะเปิดโอกาสในการเข้าทยอยสะสมหุ้นที่น่าสนใจได้
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาพตลาดเริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มเฟดพร้อมเร่งลดคิวอี ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.43% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า แม้ตลาดหุ้นจะรีบาวด์ขึ้นมาพอสมควร แต่บอนด์ยีลด์กลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก สะท้อนว่าผู้เล่นบางส่วนยังคงมีความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การระบาด และเลือกที่จะเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยไว้ก่อน หรือมีผู้เล่นบางส่วนรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น เพื่อ buy on dip เพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยชั่วคราว