NT เดินทัพรวมจุดแข็งบรอดแบนด์ 2 องค์กรเดิม (ทีโอที - กสท โทรคมนาคม)โชว์ศักยภาพหลังควบรวมสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันได้ ชู 'ราชบุรีโมเดล' ให้บริการลูกค้ารัฐ-เอกชน ช่วยเพิ่มฐานลูกค้า ลดความซ้ำซ้อนการลงทุน (https://clickfreeboard.com/index.php?topic=6049.new) ด้วยบริการเป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พร้อมเร่งขยายแนวคิดบูรณาการไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้เร็วที่สุด
***ชูศักยภาพทรัพยากรไอทีครบวงจร
สิ่งที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) หรือ NT ก็คือทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีมูลค่ามากถึง 3 แสนล้านบาทแบ่งเป็น 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านความถี่ มีปริมาณ 600 MHz 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก รวมถึงมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 500 แห่งด้วย
NT จึงกลายเป็นองค์กรที่สามารถให้บริการได้หลากหลายและมีศักยภาพที่เอกชนไม่สามารถมองข้ามได้ หลังการควบรวมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 NT ก็ไม่ได้รอช้าในการนำจุดแข็งของความเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีทรัพยากรด้านโทรคมนาคมมากที่สุดมาบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการลูกค้าเพราะเมื่อทั้ง 2 องค์กรเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วฐานลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทก็จะกลายเป็นลูกค้าของบริษัทเดียวกัน
โดยเฉพาะบริการบรอดแบนด์ซึ่งข้อมูลเดือน ก.ค. 2564 พบว่า NT มีลูกค้าบรอดแบนด์ จำนวน 1,864,924 พอร์ต แบ่งเป็น NT1 คือ กสท โทรคมนาคม เดิม 236,414 พอร์ต คิดเป็นสัดส่วน 12.68% และ NT2 คือ ทีโอทีเดิม 1,628,510 พอร์ต คิดเป็นสัดส่วน 87.32%
***'ราชบุรี โมเดล' ต้นแบบ 2 เน็ตเวิร์กบริการเดียว
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ 2 องค์กรรวมกันเป็นหนึ่งเราก็ได้เริ่มสำรวจทรัพย์สินร่วมกันและเริ่มทดลองทดสอบการใช้งานโครงข่ายบรอดแบนด์ร่วมกัน ตลอดจนนำมาทดลองใช้ทดแทนกัน
ดังนั้นเมื่อการควบรวมเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเราก็เริ่มดำเนินการบูรณาการทรัพย์สินร่วมกันได้ทันที โดยเฉพาะบริการบรอดแบนด์ซึ่งเป็นบริการที่ NT มีความแข็งแกร่งที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายไฟเบอร์ออปติก อุปกรณ์โครงข่าย ทีมช่าง ตลอดจนศูนย์บริการลูกค้า
NT จึงได้นำร่องเปิด'ราชบุรี โมเดล'ในการผสานเน็ตเวิร์กของทั้ง 2 บริษัทเดิมมาให้บริการกับลูกค้าของNT ในจังหวัดราชบุรีทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 แห่ง อาทิ รพ.ราชบุรี,ร.ร.ปากท่อพิทยาคม,บริษัท ราชาเซรามิค จำกัดและบริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัดเป็นต้นโดยตั้งเป้าจะขยายการทำงานในรูปแบบนี้ไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศให้เร็วที่สุด
เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดถึงเลือกจ.ราชบุรี เป็นที่แรก น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เพราะเป็นจังหวัดที่เหมาะสมในการทดสอบการใช้งานอุปกรณ์ร่วมกันของทั้ง 2 บริษัทเดิม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากทั้งที่เป็นของทีโอทีเดิมและกสท โทรคมนาคมเดิม ขณะที่ในบางพื้นที่ของจังหวัดราชบุรีนั้นโครงข่ายของกสท โทรคมนาคม ก็ไปไม่ถึงหรือบางพื้นที่สายไฟเบอร์ของทีโอทีหมดอายุจึงเป็นโจทย์ที่เหมาะสมในการยกเป็นโมเดลนำร่องสำหรับจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ
ซึ่งในจุดใดที่การให้บริการของกสท โทรคมนาคมไปไม่ถึง แต่ทีโอทีมีสายไฟเบอร์ไปถึง ก็สามารถนำไปเสนอบริการให้ลูกค้าเพิ่มเติมได้ ส่วนกรณีอุปกรณ์หรือสายไฟเบอร์ของทีโอทีในพื้นที่ใดหากหมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพไป เราก็ไม่ต้องลงทุนใหม่แต่ใช้การบูรณาการโดยการนำทรัพย์สินของกสท โทรคมนาคมมาใช้งานร่วมกันได้เพื่อไม่ให้การใช้งานของลูกค้าสะดุด อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุน ไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อน สุดท้ายผลประโยชน์ก็ตกกับลูกค้าที่ได้บริการในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง และเราเองก็มีแต้มต่อที่เหนือกว่าคู่แข่งอีกด้วย
ทั้งนี้ 'ราชบุรี โมเดล' อยู่ภายใต้โครงการ 'Dual Network Solution' สำหรับลูกค้าเอกชนและราชการ ซึ่งเป็นการทำงานกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องของทีมบรอดแบนด์ของทั้ง 2 องค์กรเดิมที่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องมีการเชื่อมต่อโครงข่ายร่วมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ โดยการทำงานของคณะทำงานบรอดแบนด์นี้ได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่ก่อนการควบรวมอย่างเป็นทางการแล้ว
ในการศึกษารูปแบบโครงข่ายและการให้บริการของกันและกันรวมถึงเรื่องมาตรฐานด้านโครงข่าย,อุปกรณ์ตลอดจนมาตรฐานงานติดตั้งและการแก้ไขเหตุเสีย ขัดข้องเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทีมช่างในพื้นที่จ.ราชบุรี ของทั้ง 2 องค์กรเดิมมีการสื่อสารและทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีทำให้เกิดการออกแบบรูปแบบการทำงานร่วมกันว่าตรงส่วนไหนต้องใช้อุปกรณ์หรือโครงข่ายของใครในการเชื่อมต่อให้ลูกค้า เพื่อให้เป็นบริการเนื้อเดียวกันให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด
ในขณะที่ลูกค้าที่ใช้งานตามบ้านตลอดจนลูกค้า SME ทีมงานก็ได้มีการพัฒนาเฟิร์มแวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผ่านโครงการ '1 ONU 2 ISP' ภายใต้แนวคิด ต้องให้บริการด้วยต้นทุนที่ไม่เพิ่มขึ้น หรือ เพิ่มได้เล็กน้อยด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ NT จะสามารถมีเหนือกว่าผู้ให้บริการบรอดแบนด์รายอื่นในตลาดได้ เพราะคู่แข่งแต่ละรายมีโครงข่ายและเกตเวย์เดียว แต่ NT มี 2 โครงข่ายทำให้สามารถใช้งานร่วมกันหรือสำรองการใช้งานกันและกันได้ เมื่ออีกโครงข่ายเกิดปัญหา
ยกตัวอย่างการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งโครงข่ายและชุมสายในจ.ราชบุรี ได้แก่ ชุมสายห้วยกระบอกโดย NT1(กสท โทรคมนาคม)ใช้ Core Fiber ของ NT2(ทีโอที) เพื่อเชื่อมต่อโหนดในโครงการมอเตอร์เวย์ทำให้สามารถลดการลงทุนโครงข่ายใหม่ที่ซ้ำซ้อนลงได้, เคเบิลเส้นทางห้วยผากของโรงเรียนรุจิรพัฒน์ (ชายแดน) ถูกไฟไหม้ NT1 มีเคเบิลชนิดกันไฟ จึงให้ NT2 ดำเนินการแขวนและใช้ Core Fiber ร่วมกัน ,การใช้โครงข่ายร่วมกันในพื้นที่อ.สวนผึ้งและอ.บ้านคา ในโครงการพัฒนาแนวทางป้องกันการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จ.ราชบุรี
การเช่าสื่อสัญญาณโครงข่ายเพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ตามแนวชายแดนพื้นที่ตำรวจภูธร จ.ราชบุรี ประจำปีงบประมาณ 2564 รวมถึงการย้ายโหนด NT1มาติดตั้งที่ชุมสายจอมบึง NT2 เพื่อลดค่าเช่าพื้นที่ของ NT1, การที่ NT1ขอใช้พื้นที่ชุมสายบางแพของ NT2 เพื่อติดตั้งโหนด, การทำโครงการ 1669 กับรพ.ราชบุรีในการเป็นระบบแบ็กอัปให้รพ.เป็นต้น
'ราชบุรี โมเดล ทำให้เรามั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของ NT ในพื้นที่ทุกคนทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะเห็นได้จากการทำงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในจ.ราชบุรี การขยายผลต่อเนื่องเพื่อให้การทำงานของทั้ง2 องค์กรเป็นเนื้อเดียวกันนั้นต้องขยายไปสู่ศูนย์บริการที่เรามีกว่า 500 แห่งทั่วประเทศด้วยลูกค้าต้องไม่รู้สึกว่าเราเป็นคนละบริษัทกัน เราต้องบริหารจัดการทรัพย์สินโครงข่ายดูแลลูกค้า ที่สำคัญคือแผนการปฏิบัติการประจำปีต้องเป็นแผนเดียวกันทำงานภายใต้ KPI เดียวกัน มีการนำเสนอขายบริการร่วมกันเพื่อเป็นอาวุธสำคัญในการเป็นที่หนึ่งเหนือคู่แข่งในตลาดให้ได้'น.อ.สมศักดิ์กล่าว
***ลูกค้ามั่นใจ 2 เน็ตเวิร์กแต้มต่อเหนือเอกชน
ปัจจุบัน NT มีการให้บริการลูกค้าข้ามโครงข่ายในจ.ราชบุรี แล้ว 30 ราย แบ่งเป็นการใช้อินเทอร์เน็ต NT1 ร่วมกับโครงข่าย NT2 จำนวน 29 รายและการใช้อินเทอร์เน็ต NT2 ร่วมกับโครงข่าย NT1 จำนวน 1 ราย นอกจากนี้ยังมีการให้บริการตัดถ่าย Wi-net โดยใช้โครงข่าย NT1 จำนวน 3 รายโดยลูกค้ารายใหญ่และเป็นรายแรกที่ใช้บริการของทีโอทีเดิมตั้งแต่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงคือบริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัดก็ยินดีที่ทั้ง 2 องค์กรนำทรัพยากรมารวมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ
เภสัชกรศุภชัย สายบัว ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด กล่าวว่าบริษัทตั้งอยู่ในต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตยา, อาหารเสริมและเครื่องสำอางค์ หากย้อนไปเมื่อ28 ปีที่แล้ว แม้ว่าบริษัทจะอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก
แต่ในสมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงต้องสื่อสารผ่านโทรศัพท์และพัฒนาการเป็นดาวเทียมไอพี สตาร์ แต่ก็ไม่ตอบสนองการใช้งานเท่าที่ควรต่อมาเมื่อมีอินเทอร์เน็ตก็ทำให้การทำงานสะดวกขึ้นมาก บริษัทเป็นลูกค้าทีโอทีมานานเพราะเชื่อใจบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ต่างจากเอกชนคือไม่ได้เห็นการทำงานเพื่อหวังกำไรมากมายเพียงอย่างเดียว ด้วยความเป็นรัฐย่อมมีธรรมาภิบาลในการทำงานซึ่งตรงนี้สำคัญ
ดังนั้นเมื่อทีโอทีกลายเป็น NT บริษัทจึงไม่รอช้าและยินดีที่ระบบของทั้ง 2 บริษัทเดิมมาทำงานเสริมร่วมกันเมื่อทำงานร่วมกันแล้วไม่พบปัญหาสามารถทำงานเข้ากันได้ดีและมีความเสถียรโดยสิ่งสำคัญของระบบบริษัท คือ การเชื่อมต่อระบบ ERP ของ จ.ราชบุรีกับกรุงเทพฯ แบบไม่สะดุด รวมถึงบริษัทยังมีแผนเชื่อมต่อระบบไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศในการส่งข้อมูลยอดการสั่งสินค้าเข้ามาในระบบเพื่อง่ายในการบริหารจัดการและความรวดเร็วในการทำงานอีกด้วย
'อินเทอร์เน็ตคือหัวใจสำคัญของทุกเรื่อง เราสามารถหาข้อมูลวิจัยได้ทุกที่โดยไม่ต้องเดินทาง การส่งข้อมูลถึงกันรวดเร็ว เราสามารถบริหารจัดการออเดอร์ได้ง่าย จากการใช้บริการทีโอทีมากว่า 14 ปี ยอมรับว่ามีปัญหาบ้างแต่ก็ได้รับการแก้ไขโดยเร็วเราจึงมั่นใจ 100 % เมื่อทั้ง 2 องค์กรรวมกันว่าจะสามารถให้บริการได้ดียิ่งขึ้น'
'ราชบุรี โมเดล'จึงนับเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมแรกของ NT หลังจากควบรวมกิจการ และจะขยายโมเดลนี้ไปทั่วประเทศทำให้บรอดแบนด์ของ NT สามารถแข่งกับเอกชนได้ด้วยโครงข่ายที่มากกว่าแต่ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง